RSS

กล้วยไม้สกุลเข็ม

03 Nov
กล้วยไม้สกุลเข็ม

กล้วยไม้สกุลเข็ม เป็นกล้วยไม้อีกชนิดของไทยที่ชอบแสงแดดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข็มแสด ที่ทนสภาพแสงได้ถึง 100% และยังเป็นสกุลเข็มที่ให้ดอกเก่งสีจัดและสวยงามมากชนิดหนึ่งของไทย รูปร่างของใบแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ใบแบน และใบกลม รากเป็นระบบรากอากาศ ช่อดอกจะออกที่ตาตามข้อของลำต้นระหว่างใบต่อใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก
ในประเทศไทยเราพบว่ามี กล้วยไม้สกุลเข็ม ปรากฏตามธรรมชาติอยู่ 4 ชนิด คือ เข็มแดง เข็มม่วง เข็มแสด และเข็มชมพู

เข็มแดง ลำต้นของเข็มแดงเมื่อสูงถึงประมาณ 20 เซนติเมตร พบว่าโค้งลงเพราะทรงตัวไม่ได้ และจะมีหน่อเกิดขึ้นทางส่วนล่าง ๆ ของลำต้น ใบค่อนข้างแคบ โค้ง เรียว และยาวที่สุดในบรรดา กล้วยไม้สกุลเข็ม ใบเป็นสีเขียวอ่อน ฤดูออกดอกอยู่ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

เข็มม่วง มีทรงต้นตั้งแข็งอาจมีความสูงได้ถึง 25 เซนติเมตร ใบเป็นประเภทใบแบน ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบค่อนข้างแข็ง ไม่โค้งมากนัก ใบมีสีเขียวคล้ำ ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งจะปรากฏจุดสีม่วงเล็ก ๆ บนใบโดยทั่วไป โดยเฉพาะใบที่อยู่ใกล้ ๆ ยอด ยิ่งแห้งแล้งมากจุดสีม่วงจะยิ่งเด่นชัดขึ้น ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีดอกประดับแน่นช่อ ประมาณช่อละ 30 ดอก ก้านช่อค่อนข้างสั้น

เข็มแสด ลำต้นของเข็มแสดสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่ อาจสูงถึง 30 เซนติเมตร และมีหน่อที่โคนต้นหลายหน่อ ใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบซ้อนชิดกันใบมีสีเขียวแก่ มีลักษณะหนา อวบน้ำ ช่อดอกเป็นแบบช่อตั้ง ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ประมาณช่อละกว่า 50 ดอก ฤดูออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

เข็มชมพู เป็นกล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดเดียวที่มีใบเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกสีม่วงอ่อน

 
Leave a comment

Posted by on November 3, 2011 in Uncategorized

 

Leave a comment